วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551

การข่าวกรองเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศไทย

การข่าวกรองเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศไทย
(Intelligence – led Counterinsurgency)

การต่อสู้กับการก่อการร้ายเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญในการปราบปรามการก่อการร้าย คือ การมีข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมานับตั้งแต่ยุคการก่อการร้าย ประเทศต่างๆได้มีการปรับปรุงการทำงานด้านการข่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง สหรัฐอเมริการ อังกฤษ โดยหันมาเน้นการสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อช่วยเหลืองานด้านข่าวกรอง รวมทั้งได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและพัฒนารูปแบบงานวิเคราะห์ที่เป็นหัวใจของงานข่าวกรอง โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลข่าวกรองในการขับเคลื่อนการวางแผนการต่อต้านข่าวกรอง ซึ่งระบบดังกล่าวจะทำให้นักวิเคราะห์สามารถประเมินภัยคุกคามได้ง่ายขึ้น
สำหรับการพัฒนาด้านข่าวกรองในประเทศไทยนับตั้งแต่ยุคการก่อการร้ายยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะการทำงานยังไม่มีระบบ แนวความคิด(Concept) หรือรูปแบบ(Model) รวมทั้งยุทธศาสตร์ข่าวกรองยังไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงสภาพการณ์ที่ผ่านมาของข่าวกรองเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ควรเข้าทำความเข้าใจถึงสภาพ/สถานะโดยทั่วไปประเทศไทยในเวทีการก่อการร้ายสากลดังนี้
นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา ประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือกับประชาคมโลก ที่มีประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นแกนนำ ในการดำเนินการเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติ ที่มุ่งกระทำต่อผลประโยชน์ของชาติต่างๆ ทั้งในเอเซีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มอัล-กออิดะห์ (Al Qaeda)และกลุ่มเชื่อมโยงกับกลุ่มอัล-กออิดะห์ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งรับอิทธิพลและแนวความคิดเชื้อชาตินิยม (Ethno-nationalism) และอิสลามนิยม (Islamism) ในการต่อต้านอิทธิพลของชาติตะวันตก โดยเฉพาะการขับไล่สหรัฐอเมริกา ออกจากดินแดนอิสลาม เป็นสำคัญ

สถานการณ์ปัจจุบัน สงครามต่อต้านการก่อการร้าย ภายใต้ความร่วมมือของประชาคมโลก ยังคงยืดเยื้อและขยายขอบเขต ความรุนแรง และรูปแบบวิธีการก่อเหตุร้ายออกไปจากเดิมมากขึ้น (อาทิ กรณีการก่อเหตุระเบิดพลีชีพหลายครั้งในประเทศปากีสถาน กระทั่งมีการสังหารอดีตนายกรัฐมนตรี นางเบนาซีร์ บุตโต เมื่อ วันที่ 18 ตุลาคม 2550) ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก การที่กลุ่มก่อการร้าย ยังคงสามารถบ่มเพาะแนวคิดรุนแรง (Radicalization) ไปยังกลุ่มแนวร่วมมากขึ้น โดยอาศัยช่องทางการดำเนินการผ่านสถาบันครอบครัว สถานศึกษา สถาบันศาสนา และกลุ่มเพื่อน รวมทั้ง การเผยแพร่แนวความคิดผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถขยายเครือข่ายได้อย่างกว้างไกลและรวดเร็ว ส่งผลให้กลุ่มก่อการร้ายสามารถสร้างแนวร่วมกลุ่มใหม่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าบางส่วนจะถูกเจ้าหน้าที่ หน่วยงานราชการ ของประเทศต่างๆปราบปราม จับกุม

ในห้วงปัจุบันประเทศต่างๆ ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตการณ์ก่อการร้ายขนาดใหญ่ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อประชาชน และผลประโยชน์ ได้แก่ ภูมิภาคตะวันออกกลาง ยังคงมีปัญหาเรื่องการขับไล่อิทธิพลของสหรัฐฯ ในประเทศอิรัก และการต่อต้านอิสราเอล ในปาเลสไตน์ ภูมิภาคเอเชียใต้ มีปัจจัยความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และแนวคิดอิสลามนิยม ใน อินเดีย,ปากีสถาน,อัฟกานิสถาน,บังคลาเทศ และศรีลังกา เชื่อว่าความพยายามในการก่อเหตุร้ายยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนใน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นพื้นที่หลัก ที่กลุ่มก่อการร้ายมุ่งเป้าโจมตี เนื่องจากเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ซึ่งหากสามารถลงมือก่อการร้ายได้สำเร็จ ก็จะสร้างความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อกลไกต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
กรณีของประเทศไทย ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่มีการก่อการร้ายขนาดใหญ่ ที่เกิดจากการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติเกิดขึ้น แต่จากการที่ปัญหาความไม่สงบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ปัตตานี,ยะลา และนราธิวาส) มีมิติที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม ทำให้เป็นประเด็นปัญหาที่ถูกจับตามองจากประชาคมมุสลิมในภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้ง มีความพยายามจากกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคนี้ อาทิ กลุ่มเจมาอิสลามิยาห์ (Jemaah Islamiyah-JI ที่ต้องการเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ เพื่อยกระดับเหตุการณ์ให้เชื่อมโยงกับสถานการณ์ในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ดังนั้น หากทางการไทย ปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อออกไป หรือมีสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น อาจจะส่งผลให้เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กลายเป็นสถานการณ์ในระดับภูมิภาค และเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ อันจะส่งผลให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย องค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศต่าง สามารถดำเนินการต่อต้านและตอบโต้การก่อการร้าย ได้อย่างประสบความสำเร็จ คือ การมี การข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรอง ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรวบรวมข่าวกรองและความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับขบวนการก่อการร้ายกลุ่มต่างๆทุกแง่มุม ตลอดจนต้องมีการใช้ข่าวกรองที่มีประสิทธิผล เพื่อต่อต้านและตอบโต้ขีดความสามารถของกลุ่มก่อการร้าย ก่อนที่กลุ่มก่อการร้ายจะสามารถลงมือก่อเหตุร้าย ในภูมิภาคต่างๆ ก่อนที่จะเกิดความสูญเสียต่อประชาชนและผลประโยชน์ของชาตินั้นๆ (มีต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น: