วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

ภาพจำลองสถานการณ์ภายในประเทศไทย

ภาพจำลองสถานการณ์ภายในประเทศไทย

ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยที่ขยายไปยังภาคส่วนของสังคมด้านอื่นซึ่งมีจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่ปี กันยายน 2549 กำลังเป็นปัญหาที่บันทอนทำลายความเป็นรัฐไทยอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากการต่อสู้ข้างต้นเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเกิดขึ้นจากการช่วงชิงของกลุ่มบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับอำนาจรัฐหรือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่รักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ประกอบด้วย นักการเมือง(Politician) ฝ่ายความมั่นคง(ข้าราชการ) ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงประชาชนบางส่วน โดยสิ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบมากที่สุดคือ หลักการ (Concept) หลักกฎหมาย(Law) หลักศีลธรรม(Moral ) ถูกนำไปใช้โดยการบิดเบือน หรือ นำไปเป็นเครื่องมือของการต่อสู้จนหมดความน่าเชื่อถือ เกิดความหมดศรัทธาในระบอบการปกครองขึ้นทั้งในตัวระบอบและตัวบุคคล รวมถึงความไม่ไว้วางใจของผู้คนในสังคม สงผลให้เมื่อผู้ใดขึ้นมาปกครองประเทศและมีส่วนได้เสียกับการต่อสู้นั้นย่อมไม่ได้รับการสนับสนุนและการต่อต้าน กลายเป็นวงจรความขัดแย้งทางการเมืองไม่มีที่สิ้นสุดตราบใดที่ยังไม่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงยังไม่ตระหนักว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและกำหนดทิศทางของประเทศ โดยต้องแสดงพลังทางการเมืองมากกว่าปล่อยให้สถาบันทางการเมืองต่างๆดำเนินการแต่ฝ่ายเดียวซึ่งไม่เป็นที่ไว้วางใจในสังคมปัจจุบันหรือจากกลุ่มบุคคลต่างๆที่มีความคิดทางการเมืองขัดแย้งกัน

เมื่อสภาพความเป็นจริงความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในประเทศอยู่ในจุดที่เรียกว่าวิกฤติของความศรัทธาในระบบ(Conflict of the Regime ) ผลที่ตามมาคือการต่อสู้ที่หลากหลายได้สะท้อนออกมาในรูปแบบที่สื่อมวลชน นักวิชาการให้คำจำกัดความในการต่อสู้ ประกอบด้วย ความขัดแย้งระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ หรือ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครอง การต่อสู้ระหว่างชาวชนบทและคนกรุง หรือคนจนกับคนรวย(Rich and Poor Conflict) ความขัดแย้งระหว่าซ้ายและขวา หรือ การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับเสื้อแดง หรือเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง เป็นต้น

สภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีความหลากหลาย แต่ มีรูปแบบที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือความพยายามสร้างมวลชนในการสนับสนุนหรือการสร้างชุมชนทางการเมืองเพื่อเป็นฐานการสนับสนุนทางการเมือง(Political Community)ในจังหวัดต่างๆ โดยใช้สงครามข่าวสาร ซึ่งโดยหลักการแล้วมักจะมีการบิดเบือนจากข้อเท็จจริง ผลที่ตามที่คาดไม่ถึงคือ เกิดวิกฤติศรัทธา ความไม่เชื่อมั่นและความหวาดระแวงภายในสังคมอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นสังคมที่มีระดับของการมีเหตุผลต่ำ (Low Rational) ขาดหลักการ มักเชื่ออะไรได้ง่ายเมื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว นอกจากนี้ การแย่งชิงมวลชนยังเปรียบเสมือนการรุกคืบทางด้านพื้นที่ที่ต้องยึดครองเพื่อให้เกิดความได้เปรียบด้านมวลชนและเป็นการควบคุมการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม น่าจะทำให้เกิดการช่วงชิงและนำมาสู่ความแตกแยกมากขึ้น

สำหรับความสงบที่เกิดขึ้นล่าสุดหลังเหตุการณ์ก่อความวุ่นวายของคนเสื้อแดงแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถความคุมสถานการณ์ได้ แต่แนวทางการต่อสู้น่าจะเปลี่ยนแปลงไป โดยจะดำเนินการต่อสู้ใน 2 ระดับ 1.การเคลื่อนไหวในต่างประเทศโดยอาศัยสื่อในต่างประเทศโจมตีประเทศไทยเพื่อยังคงบทบาทของแกนนำและเป็นการส่งสัญญาณให้ต่อสู้ต่อไปทั้งในระบบและใต้ดิน 2.การเคลื่อนไหวในต่างจังหวัดจะปรากฏมากในพื้นที่ฐานเสียงในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนช่องทางในการติดตามความเคลื่อนเมื่อฝ่ายรัฐได้ตัดช่องทางในการสื่อสารเพื่อปลุกระดมแล้ว (การควบคุมหรือการขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ในการเสนอข่าวที่สร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐมีความได้เปรียบจึงต้องดำเนินการใช้ช่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในรักษาเสียงสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ) คาดว่าการเคลื่อนไหวจะทำได้อยากขึ้นแต่ก็ทำให้ฝ่ายรัฐติดตามความเคลื่อนไหวได้ยากเช่นเดียวกัน โดยแนวทางในการเคลื่อนไหวยังใช้ข้ออ้างว่ามีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในการปลุกปั่นและปลุกระดมเพื่อไม่ให้กระแสความสนใจหายไป ดังนั้นการปลุกปั่นและปลุกระดมผ่านเครือข่ายทางการสื่อสารต่างจะมีมากขึ้น 3.นักการเมืองฝ่ายค้านน่าจะมีมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นเพื่อกดดันให้รัฐบาลใช้แนวทางที่ฝ่ายตนเองได้ประโยชน์ โดยเฉพาะความพยายามที่จะกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งของพรรคของอดีตผู้นำ

อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่รัฐบาลพยายามสร้างบรรยากาศของความสมานฉันท์และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีเวทีในการแสดงออกได้ทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลง แต่ยังมีประเด็นที่รัฐบาลต้องสร้างเป็นบรรทัดฐานในการปกครองประเทศคือการใช้กระบวนการยุติธรรมให้มีความโปร่งใสและไม่เลือกปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน อันจะเป็นการยุติวงจรความขัดแย้งและความไม่ศรัทธาลงได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งยังทำให้ภาพความอ่อนแอของอำนาจรัฐกลับคืนมาโดยเฉพาะการคุกคามสื่อมวลชน
ที่สำคัญ การแก้ไขความไม่สงบที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการทำงานของฝ่ายรัฐที่ดำเนินการอย่างนิ่มนวลซึ่งเกิดจากความประณีตและความละเอียดของหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงเอกภาพมีมากขึ้นจึงจะเป็นหน่วยงานหลักที่ค้ำประกันความมั่นคงของชาติได้ในอนาคต

สำหรับปัจจัยที่จะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น คือ มือที่สาม เนื่องจากสภาพความอึมครึม และความไม่ไว้วางใจในขณะนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้บุคคลที่สาม(คาดว่าเป็นบุคคลที่หวังผลทางการเมืองโดยการใช้อำนาจทำลายฝ่ายตรงข้ามเพื่อการสร้างสถานการณ์ให้อยู่ในวงจรความขัดแย้งหรือเพื่อสนับสนุนกลุ่มชนชั้นนำที่ต้องการมามีอำนาจ)จะมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มบุคคลดังนี้ 1.กลุ่มบุคคลการเมืองที่ต้องการสถาปนาเครือข่ายขึ้นมาใหม่โดยการร่วมมือระหว่างข้าราชการและนักการเมืองบางกลุ่ม 2.กลุ่มข้าราชการที่สนับสนุนเสื้อแดง

การจำลองภาพในอนาคต
ผลจากการต่อสู้ในครั้งนี้ สามารถวิเคราะห์ภาพจำลองที่อาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในห้วงต่อไปได้ดังนี้
ภาพจำลองที่หนึ่ง การเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบมีความเป็นไปได้มากที่สุด โดยทหารมีบทบาทหลักในการสร้างความมั่นคงให้กับรัฐไทยเป็นผู้ค้ำสถาบันของประเทศ แต่ต้องวางยุทธวิธีในสองระดับ คือ การเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมทางการเมือง (คาดว่าจะตั้งพรรคการเมืองเริ่มจะมีความชัดเจนมากขึ้น) การควบคุมประชาชน และ พื้นที่ (โดยคาดว่าจะใช้กลไกของ กอ.รมน.จังหวัด อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกคงต้องร่วมมือกับพรรคการเมืองบางพรรคในการสร้างเครือข่ายสนับสนุนทางการเมือง ก่อนเพื่อเป็นฝ่ายบริหารและเพื่อควบคุมกลไกของประเทศ แนวทางข้างต้น น่าจะได้รับการต่อต้านจากนักการเมืองที่เห็นว่าเป็นคู่แข่ง แต่ด้วยเหตุที่มีทหารเป็นผู้สนับสนุนและมีอิทธิพลน่าจะทำให้เกิดความหวาดกลัวและเป็นผลให้นักการเมืองไม่กล้าต่อต้านมากนัก และมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุน แนวทางนี้ จะทำให้สถานการณ์ในห้วงต่อไปมีความเคลื่อนไหวในการสร้างเครือข่ายและทำลายฝ่ายตรงข้าม

ภาพจำลองที่สอง ฝ่ายอดีตผู้นำกลับมาเป็นผู้ชนะมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากภาพของอดีตผู้นำเป็นแกนนำของบุคคลในการต่อต้านสถาบัน และการเคลื่อนไหวเป็นการมุ่งผลประโยชน์ต่อส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศหรือเป็นการทำเพื่อประชาธิปไตย(Democratization)รวมทั้งมีความชัดเจนมากขึ้นว่าชนชั้นกลางไม่แสดงการสนับสนุนอีกต่อไปและไม่เห็นด้วยกับเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่มีมาจากต่างจังหวัด น่าจะกดดันให้การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงน่าจะจำกัดอยู่ในต่างจังหวัด และ จะเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังมากขึ้น แต่จากการที่ภาพลักษณ์ของคนเสื้อแดงไม่ได้รับการยอมรับจึงขาดความชอบธรรมทำให้หากเกิดความเคลื่อนไหวใน กทม.จะถูกต่อต้านมากกว่าเดิมและจะเกิดความรุนแรงเนื่องจากกลุ่มชนใน กทม.เห็นว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหาด้านเศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวในต่างจังหวัดหน่วยงานความมั่นคงสามารถควบคุมได้ง่ายจึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ควรแสดงบทบาทนำในการคัดค้านการใช้ความรุนแรงในแต่ละจังหวัด โดยเร่งดำเนินการในจังหวัดที่กลุ่มเสื้อแดงเคลื่อนไหวเป็นลำดับแรกก่อน