วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

กลุ่มก่อความไม่สงบกับแนวทางการเคลื่อนไหวในต่างประเทศ

กลุ่มก่อความไม่สงบกับแนวทางการเคลื่อนไหวในต่างประเทศ

ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นอุปสรรคต่อการบริหารและการผลักดันนโยบายที่เป็นรูปธรรม อาจส่งผลกระทบที่อาจจะคาดไม่ถึงต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากขาดความเอาใจใส่จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ ทั้งนี้ การขาดความต่อเนื่องและความสนใจหรือมีความสนใจน้อยของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ผบ.ทบ. ที่ได้รับอำนาจเข้ามาแก้ไขปัญหาความไม่สงบจาก นรม. แต่เป็นตัวแปรที่สำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองในส่วนกลาง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองข้างต้น ได้ส่งผลที่ดีในการต่อสู้ของกลุ่มก่อความไม่สงบไม่มากก็น้อย แต่อย่างน้อยที่สะท้อนให้เห็นก็คือว่ายุทธศาสตร์ในการต่อสู้ของกลุ่มยังไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ฝ่ายรัฐต้องประสบปัญหาภายใน ส่งผลให้ไม่มีความคืบหน้าในมาตรการต่างๆในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบมากเท่าที่จะเป็น

ในสถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มก่อความไม่สงบได้เคลื่อนไหวมากขึ้นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการต่อสู้ โดยมีการสร้างเอกภาพและความร่วมมือระหว่างกลุ่ม BRN Coordinate และ PULO อย่างผิดสังเกต ซึ่งจะมีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนว่า กลุ่ม PULO เน้นการรุกด้านการเมืองต่างประเทศมากขึ้น ส่วน BRN Coordinate ยังเน้นก่อเหตุร้ายในพื้นที่ การปลุกระดมหาแนวร่วมใหม่ การแทรกซึมในหน่วยงานของรัฐ

สำหรับการรุกทางการเมืองระหว่างประเทศเพื่อยกระดับของปัญหา จชต.ให้เป็นปัญหานานาชาติ(Internationalization) ของ PULO ได้กระทำในลักษณะส่งข้อมูลที่เกี่ยวกับปัญหาในภาคใต้ให้กับประเทศที่มีอิทธิพลต่อการหยิบยกประเด็นปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำมาพิจารณาในที่ประชุมเพื่อออกแถลงการณ์ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการยับยั้ง มาตลอด

อย่างไรก็ เป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือ Council of Foreign Minister ของ OIC กลุ่มพูโล ได้ระดมเงินทุนและยังส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนให้กับ EU และ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีอิทธิพลต่อที่ประชุม OIC ที่สำคัญในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ 18-20 มิ.ย.51 นี้ ยังจะมีการพิจารณาว่าด้วยร่างข้อมติให้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อย (Minority) แยกออกมาจากเรื่องอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการยกระดับของปัญหาชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้รับความชอบธรรมในประเทศที่ไม่ใช้มุสลิม เช่น ในปัญหาความไม่สงบในประเทศไทย

เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวข้างต้นในช่วงการเมืองภายในประเทศยังไม่มีทางออกแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานระดับยุทธศาสตร์ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของกลุ่มก่อความไม่สงบ เพื่อหาทางแก้ไขและตอบโต้ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ต้องรีบดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ รวมทั้งต้องหาทางลอบบี้สมาชิก OIC ที่อาจจะมีมติเห็นชอบให้แยกเรื่องมติของชนกลุ่มน้อยในประเทศที่ไม่ใช้มุสลิมออกมาจากเรื่องอื่น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อนโยบายของไทยในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น: