วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ไทยอยู่ในยุคการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

ไทยอยู่ในยุคการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

ความเป็นจริงทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน(2551)หากหยิบเอางานวิชาการแนวหลังยุคสมัยใหม่(Post-Modern)มาอธิบาย สะท้อนความเป็นจริงทางการเมืองได้ว่า ไม่มีชนชั้นผู้นำทางการเมืองใดมีอำนาจสูงสุดพอที่ควบคุมผู้นำทางการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งได้อีกแล้ว ส่งผลให้เกิดความคิดเทียบเคียงเทียบเท่า ภายในจิตใจขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดความลำพองในจิตใจของผู้นำบางกลุ่มที่จะท้าทายหรือต่อสู้กับผู้นำอื่นๆ โดยอาศัยบารมีทางการเงิน การใช้อิทธิพลภายนอก หรือ การดึงต่างประเทศเข้ามาสร้างบารมีในการต่อสู้ ซึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมาได้เกิดการต่อสู้ในลักษณะดังกล่าวและประวัติศาสตร์ก็คือหลุมฝังศพของผู้นำ(History is the graveyard of elite)

การต่อสู้ทางการเมืองในไทยกำลังเป็นไปอย่างเข้มข้น ต่างฝ่ายต่างจะเอาชนะกันโดยความตั้งใจ การวางแผน และ ทำทุกวิถีทาง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง รวมทั้งยังดูเหมือนว่าจะไม่ยอมถอยหลังมาพูดคุย ในสภาวะแบบนี้ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 2549 ได้ส่งผลต่อประเทศชาติในหลายด้าน

ประการแรก เกิดการสร้างวาทกรรมแบ่งฝ่าย แบ่งภูมิภาค แบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งแยกทางความคิด รุนแรงที่สุดอาจแบ่งประเทศ ทั้งนี้ การแบ่งเป็นฝักฝ่ายได้เริ่มมีมานับตั้งแต่หลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2540มาระยะเวลาหนึ่ง ของผู้นำทางการเมืองพรรคหนึ่ง จนเกิดความได้เปรียบทางการเมือง แต่กลับนำมาสร้างความได้เปรียบทางการเมือง การกดดันฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งนำมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองและยังเพื่อสั่นคลอนสถาบันที่สำคัญที่เป็นผู้สร้างประเทศ

ประการที่สอง การสร้างวาทกรรมให้ตนเองเป็นฝ่ายถูกและเกิดความชอบธรรม ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยสภาวะดังกล่าวส่งผลให้เกิดความไม่สามัคคี และดูเหมือนว่าจะประสานความรู้สึกกันอย่างมากขึ้นแม้ว่าจะมีความพยายามจากหลายฝ่ายรณรงค์ให้เกิดความสามัคคีแต่ต่างฝ่ายเกิดความรู้สึกว่าเชื่อไม่ได้เพราะมักคาดเดาว่าเป็นการกระทำที่แอบแฝง

ประการที่สาม การสร้างความเหนือกว่าให้เกิดขึ้นโดยไม่ได้ให้ความสนใจความเป็นไปของประเทศ และไม่สนใจว่าจะส่งผลกระทบต่ออนาคตซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่เพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือการเมือง คือ การดึงเอาเครือข่ายในต่างประเทศมาสร้างบารมีในการต่อสู้ ซึ่งจะกดดันให้ฝ่ายบริหารไม่สามารถดำเนินการบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สี่ การต่อสู้ในครั้งนี้ ต่างฝ่ายมีเครือข่ายในการสนับสนุนที่ไม่เปิดเผยอยู่มาก และจะสนับสนุนการต่อสู้อย่างเงียบๆหากไม่มีการเปิดโปงก็จะสนับสนุนการต่อสู้ทุกทาง ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้จะไม่จำกัดอยู่ที่การเมืองต่อไปยังรวมถึงในด้านอื่นอีกด้วย เช่น ภาคราชการ ภาคเศรษฐกิจ ภาคประชาชน โดยเฉพาะภาคราชการทหาร ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่จะเป็นตัวชี้ขาดต่อการใช้กำลังเพื่อวัตถุประสงค์ใด ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มเคลื่อนไหวในลักษณะปกป้องสถาบันมากขึ้น เพราะการต่อสู้มีการอ้างอิงหรือจาบจ้วงสถาบันมากขึ้น

สถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่สามารถจะทำนายได้ว่าจะเปลี่ยนรูปจากการปะทะทางด้านความคิดมาปะทะในด้านการเมือง ขั้นสุดท้ายปะทะกันด้วยกำลัง จะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่มีเงื่อนไขที่จะนำมาสู่การปะทะกันมากขึ้น โดยยังไม่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการเคลื่อนไหวของบุคคลสำคัญทางการเมืองทุกวันนี้ ยังไม่มีท่าทีประณีประนอม แต่แฝงไปด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้าเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น: