วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การแข่งขันของกลุ่มอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้งรัฐบาล

การแข่งขันของกลุ่มอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้งรัฐบาล

ปัญหาทางการเมืองในขณะนี้มีความชัดเจนในตัวของมันเองมากขึ้นเมื่อผู้เล่นทั้งหลายทั้งเก่าและใหม่ได้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ไม่มีความแตกต่างกันแม้ว่าผู้แสดงใหม่บางกลุ่มพยายามสร้างภาพความเหนือกว่าหรือภาพความใสสะอาดทางการเมืองและเป็นผู้ยกระดับทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงที่ปรากฏได้ทำให้สาธารณะชนได้รับรู้ว่าไม่มีอะไรใหม่ในวงการทางการเมือง เมื่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆไม่ได้ทำไปเพื่อพัฒนาการเมืองเพื่อรับใช้ประชาชนแต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐ โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลหลังรัฐบาลต้องหมดสภาพลงเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค 3 พรรคการเมือง

ปัญหาทางการเมืองในตอนนี้คือต่างฝ่ายกำลังการสร้างความชอบธรรมและการชิงไหวชิงพริบในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถลงตัวได้ในขณะนี้ เพราะต่างฝ่ายต่างใช้วิธีการต่างๆในการดึงแรงสนับสนุนจาก ส.ส. ด้วยการใช้ระบบธนาธิปไตยหรืออิทธิพลในรูปแบบต่างๆ ซึ่งดูเหมือนว่าภาพที่เกิดขึ้นเหมือนกับการนั่งดูการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือการซื้อขายประมูล

สำหรับกลุ่มต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการช่วงชิงอำนาจโดยการจัดตั้งในครั้งนี้มีกลุ่มหลักประมาณ 3 กลุ่ม


กลุ่มทหารที่ค่อนข้างมีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองเป็นอย่างมากแม้ว่าในช่วงประชาธิปไตยจะไม่มีบทบาทมากนักแต่เป็นสถาบันที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญทั้งการจัดสรรงบประมาณ หรือไม่ควรที่จะมีปัญหากับฝ่ายทหาร อิทธิพลข้างต้นดังจะเห็นจากในช่วงการต่อสู้ระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับรัฐบาลสมชายได้กลายเป็นอำนาจที่สาม ซึ่งทั้งสองฝ่ายที่ต่อสู้กันเกิดความเกรงกลัว แต่ด้วยเหตุที่พื้นฐานของอำนาจมาจากกระบอกปืน และ มีประสบการณ์จากการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.49 จึงทำให้ต้องเคลื่อนไหวในทางลับในการถ่วงดุลอำนาจในการต่อสู้ครั้งที่ผ่านมา

ในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นี้ มีความชัดเจนมากขึ้นว่าหลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยยุบพรรคเมื่อ 2 ธ.ค.51 ส่งผลให้การเผชิญหน้าได้ยุติลงชั่วคราวแต่พื้นที่ในการต่อสู้ตามท้องถนนได้กลับมาต่อสู้ในระบบรัฐสภา โดยเป็นการช่วงชิงของพรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยหรืออดีตพรรคพลังประชาชนโดยแต่ละฝ่ายมีเครือข่ายให้การสนับสนุน โดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์แล้วมีความชัดเจนว่ามีกลุ่มนักธุรกิจ สื่อมวลชน ซึ่งเคยสนับสนุนฝ่ายพันธมิตรให้การสนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าว ที่สำคัญคือมีทหารที่เคยมีส่วนร่วมรัฐประหารในสมัย คมช. ได้ให้การสนับสนุน รวมทั้งผู้บัญชาการทหารบก โดยปรากฏรายงานว่ามีการลอบบี้กลุ่มเพื่อนเนวิน ให้เปลี่ยนขั้วมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นความต่อเนื่องในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐที่ยังไม่สิ้นสุดนับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะไม่ประสบผลสำเร็จหากพิจารณาบทบาทของผู้บัญชาการทหารบกที่ผ่านมาเคยเปิดพื้นที่ในเรื่องรัฐบาลแห่งชาติเอาไว้ด้วยเหตุนี้จึงเป็นมาตรการรองรับในขั้นต่อไปหากแผนเปลี่ยนขั้วไม่ประสบผลสำเร็จ

ส่วนของพันธมิตรนั้นเริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวในทางการเมืองโดยมีกระแสว่าจะจัดตั้งพรรคการเมือง ชื่อ เทียนแห่งธรรม แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุดจึงต้องมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบบรัฐสภา เนื่องจากเห็นชุมนุมประท้วงได้สร้างความสูญเสียและภาพลักษณ์ต่อประเทศชาติ ดังจะเห็นจากสื่อต่างประเทศ(ซึ่งอำนาจรัฐไทยไม่สามารถควบคุมได้)ได้เผยแพร่ความเกี่ยวพันระหว่างกลุ่มชนชั้นสูงกับพันธมิตรในลักษณะที่เป็นลบมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การประท้วงของกลุ่มดังกล่าว โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะอาศัยคะแนนนิยมจากผู้ที่เข้ารวมการประท้วงหรือผู้ที่สนับสนุนอย่างเงียบที่มีความนิยมพันธมิตร การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองดังกล่าวน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเครือข่ายทางการเมืองร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือฝ่ายสนับสนุนสถาบันในการควบคุมการเมืองแบบตัวตัวแทนในระบอบประชาธิปไตย(Representative Democracy) ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ไม่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงและภาพลักษณ์ของประเทศมากเท่ากับการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเฉกเช่นการชุมนุมประท้วงครั้งที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคอยสนับสนุนในแต่ละฝ่าย คือ สื่อมวลชน ถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองหรือการโจมตีฝ่ายตรงข้ามโดยในส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น สื่อที่คอยให้การสนับสนุนก็คือสื่อที่ให้การสนับสนุนพันธมิตรเช่นเดียวกับกุมทุนจนฝ่ายพันธมิตรมีความมั่นใจว่าแม้จะถูกดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งก็มีแหล่งเงินที่คอยสนับสนุนซึ่งอาจรวมถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองด้วย ขณะฝ่ายอดีตผู้นำแนวรบด้านสื่อในขณะนี้ใช้ช่องทางจากรายการความจริงวันนี้ ซึ่งในระยะหลังและการจัดรายการเวทีสัญจรใน 13 ธ.ค.51 อาจจะไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนโดยเฉพาะนักธุรกิจ ชนชั้นกลางมากเท่าที่ควรเนื่องจากเกิดความหวาดระแวงว่าหากเครือข่ายอำนาจอดีตผู้นำกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ น่าจะกลายเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้การปลุกระดมอาจจะไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร

แม้ว่าการช่วงชิงอำนาจข้างต้นได้กลับไปสู้วงวนการเมืองยุคเก่า แต่การขาดรัฐบาลในช่วงที่เกิดสูญญากาศทางการเมืองนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสมานฉันท์ ปัญหาเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศที่ตกต่ำจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกัน หากขาดรัฐบาลที่มีความชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของประชาชนในประเทศแล้ว คงไม่สามารถผลักดันให้ประเทศไทยกลับมาปกติเหมือนเดิมได้เร็ววัน

ไม่มีความคิดเห็น: