ยุคมืดยุคการก่อกวนและยุคของความล้มเหลวของรัฐไทย
ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้จะอยู่ในโหมดของการปรองดอง สมานฉันท์ของฝ่ายการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งดูเหมือนว่าหลายฝ่ายจะปักใจเชื่อว่าเป็นการสร้างสภาพของความปรองดอง มากกว่าความจริงใจของฝ่ายการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมกำลังละเลยและควรให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจะส่งผลกระทบต่อความเรียบร้อยและความสงบในบ้านเมืองรวมทั้งชีวิตความแนอยู่ของตนเอง ก็คือว่า การใช้อำนาจเหนือกฏหมายของกลุ่มที่ไม่หวังดี ในรูปแบบใต้ดิน โดยการก่อกวน การลอบวางระเบิด ที่จะมีมากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังไม่สามารถทำความกระจ่าง หรือ หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างเป็นรูปธรรมเนื่องจากผู้ที่ก่อเหตุส่วนใหญ่หรือการก่อกวนเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ หรือ เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ใช้อำนาจตามกฏหมายหรืออำนาจในการปกครองโดยตรง หรือผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ของการต่อสู้ในทางการเมือง
การลอบวางระเบิดหลายครั้งที่ผ่านมามักจะมีสาเหตุจากการเมืองที่ต้องการดิสเครดิตฝ่ายรัฐ หรือ การสร้างอำนาจต่อรองเพื่อวัตถุกระสงค์แอบแฝง รวมทั้งยังมีกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางการเมือง หรือ ขัดแย้งผลประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง รวมทั้งความไม่พอใจของผู้ที่ผิดหวังจาการแต่งตั้งทหาร ตำรวจ ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งเนื่องจากในวงการทหาร ตำรวจ มีการเกี่ยวพันกับการต่อสู้ทางการเมืองค่อนข้างมาก จึงอาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ซ้ำเติมประเทศชาติโดยมองเห็นผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก
ด้วยเหตุนี้ การสร้างสถานการณ์จึงมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นข่าวหรือไม่เป็นข่าวหรือที่เปิดเผยต่อสาธารณชน การสร้างสถานการณ์ที่เป็นข่าวและเปิดเผยต่อสาธารณชน เช่น การลอบวางระเบิดแสวงเครื่องในห้วงที่ผ่านมาจำนวน 3 จุด ระเบิด 4 ลูกในกรุงเทพมหารนครและนนทบุรี การวางระเบิดพรรคการเมือง การลอบวางระเบิดและการยิงใส่โรงแรมที่ซอยรางน้ำ การขู่วางระเบิดบนเครื่องบินการบินไทย การใช้อาวุธสงครามยิงใส่ค่ายทหารในจังหวัดเชียงใหม่ และการลอบยิงใส่ค่ายทหารอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนพื้นที่นอกกรุงเทพมหานคร เริ่มปรากฏการลอบยิงนักการเมือง หัวคะแนนบางแล้ว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าการแข่งขันทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งจะมีความรุนแรง
ในกรณีที่ไม่เป็นข่าวเช่น การลอบวางระเบิดทีสถานีรถไฟหัวลำโพง การขู่ว่าจะมีการลอบวางระเบิดเครื่องบินแอร์เอเชีย เป็นต้น เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของบรรยากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้นซึ่งไม่มีท่าที่จะลดความขัดแย้งได้เลยและมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้มีการก่อกวนและการก่อเหตุร้าย จะมากขึ้นในห้วงต่อไป
โดยสรุปแล้วสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศในห้วงต่อไปจะอยู่ในห้วงการก่อความไม่สงบที่ไม่มีความแตกต่างจากการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสาเหตุที่หลากหลายทั้งมีสาเหตุจากกลุ่มก่อความไม่สงบร้อยละ 50-70 ส่วนที่เหลือ มีสาเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งส่วนตัว ความขัดแย้งด้านยาเสพติด กล่าวคือ การก่อกวนหรือการก่อเหตุร้ายด้วยรูปแบบอะไรก็ตามในกรุงเทพมหานคร มีสาเหตุที่หลากหลายเช่นกัน ซึ่งเหมือนกับการจำลองสถานการณ์ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาไว้ที่กรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่มีสัญญาณว่ากลุ่มก่อความไม่สงบจะเข้ามาก่อเหตุในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากเป็นจริงฝ่ายรัฐคงต้องเผชิญคูต่อสู้ที่รอบด้าน
ด้วยเหตุนี้สภาพของประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้น โดยมีการก่อกวนในพื้นที่เขตเมืองและนอกศูนย์กลางอำนาจรัฐ กำลังทำให้ประเทศไทยอยู่ในเส้นทางของความเป็นรัฐที่ล้มเหลวหรือ Failed-state เนื่องจากการบังคับใช้กฏหมาย กลไกของรัฐไม่มีประสิทธิภาพ และความขัดแย้งของประชาชนทำให้ประเทศไม่มีเอกภาพเหมือนเดิม ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่ในขั้นของความขัดแย้งซึ่งเรียกว่า Crisis State โดยผ่านสถานการณ์ที่เรียกว่า Fragile State มาแล้ว เช่นการต่อสู้ของเสื้อหลากสี่ หวังว่าหากผู้มีอำนาจทั้งพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ทหาร ตำรวจ รวมทั้งประชาชน หากยังไม่สำนึกและให้ความสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอันดับแรกแล้ว คาดว่าประเทศไทยในอนาคตคงจะมีกองกำลังสหประชาชาติเข้ามาดูแลประเทศให้มีความสงบไม่แตกต่างจากประเทศในแอฟริกาใต้ เช่น ซูดาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น