วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกรณีจับกุมแกนนำพันธมิตร

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกรณีจับกุมแกนนำพันธมิตร

ภายหลังการจับกุมแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เมื่อ 4 ตุลาคม 2551 และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เมื่อ 5 ตุลาคม 2551 มีการตั้งคำถามมากมายว่า การจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร มีวัตถุประสงค์อะไรแอบแฝงทางการเมืองหรือไม่อย่างไร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนในสังคมไม่มีความแน่ใจถึงปรากฏการณ์ข้างต้นว่าอะไรคือข้อเท็จจริง โดยกระแสของความสนใจที่เกิดขึ้นมีการตั้งข้อสังเกตใน 2 ประเด็น กรณีดังกล่าวเป็นการสั่งการจากฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ โดยเห็นว่ารัฐบาลไม่จริงใจ แม้ว่าที่ผ่านมาแสดงท่าทีประนีประนอมยอมเจรจากับกลุ่มพันธมิตร รวมทั้งมีบางกระแสเห็นว่าต้องการดิสเครดิต พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ขณะกรณีที่สอง บางฝ่ายโดยเฉพาะสื่อมวลชนมองว่าอาจเป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มบุคคลที่ให้การสนับสนุนกลุ่มดังกล่าวมาตลอดเป็นผู้ต้องการให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นเพื่อต้องการทำลายระบบทักษิณให้สิ้นซาก โดยสร้างสถานการณ์ให้มีความรุนแรงมากขึ้นเพื่อกลับมาคุมเกมส์การเมืองอีกครั้ง

สมมุติฐานแรก การสั่งการจากฝ่ายรัฐบาล การเกิดขึ้นของรัฐบาลสมชาย คงจะปฏิเสธบทบาทของอดีตผู้นำพรรคไทยรักไทย ไม่ได้ว่าเป็นตัวขับเคลื่อนให้นายสมชายขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นการตัดสินใจหรือการเดินเกมส์ทางการเมืองต้องดำเนินตามคำสั่งจากอดีตผู้นำ โดยในกรณีหากเป็นการสั่งการจากต่างประเทศจริงในขณะที่นายสมชายแสดงท่าทีประนีประนอมมาตลอด ผลเสียน่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของนายสมชายมากกว่าส่งผลให้จะมีการต่อต้านนายสมชายมากขึ้นจากฝ่ายพันธมิตร รวมทั้งจะทำให้ความได้เปรียบทางการเมืองซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนมากขึ้นลดลง ส่วนความพยายามทำลายภาพลักษณ์ของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รอง นรม.ที่เข้ามาดูแลความมั่นคง ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่าการขึ้นมาของบุคคลผู้นี้มาจากสายตรงจากลอนดอน และพร้อมแสดงท่าทีในการเจรจากับกับฝ่ายพันธมิตร ทำให้เกิดภาพความขัดแย้งที่มีความเป็นไปได้ว่าท่าทีอดีตผู้นำอาจจะลดทาทีการเผชิญหน้าลง เพื่อเรียกร้องความเห็นใจ จึงต้องมาดูว่าที่ผ่านมาในอดีต พล.อ.ชวลิต มีความขัดแย้งกับผู้ใดในพรรคพลังประชาชน แล้วฝ่ายทหารมีการตอบรับที่ดีจากชายผู้นี้หรือไม่ รวมทั้งมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่กลุ่มการเมืองในพรรคพลังประชาชนไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเจรจาของพล.อ.ชวลิต เพราะหากสำเร็จย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของพล.อ.ชวลิตที่มีอิทธิพลทางการเมืองในทันที

อย่างไรก็ตาม พันธมิตรเองก็แสดงความห่วงใยว่าพล.อ.ชวลิต ได้รับการกลั่นแกล้ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่จะปกป้องหรือแสดงการสนับสนุนแนวทางการเจรจาในห้วงที่ผ่านมา โดยผลสะท้อนได้กลับไปยังการตั้งข้อสงสัยอีกครั้งว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังน่าจะมาจากคนในพรรคพลังประชาชนเอง สังเกตจากผู้ที่ใกล้ชิดพล.อ.ชวลิตยงใจยุทธ ออกมาเปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีอาจจะมาคุมงานการแก้ไขปัญหาในภาคใต้

สมมุติฐานที่สอง การสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเอง การเกิดขึ้นของพันธมิตรฯเหตุผลระดับต้นๆ กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องน่าจะต้องการทำลายระบอบของทักษิณซึ่งเป็นการเมืองระบบเก่าให้หมดสิ้นลงไป เพราะได้ส่งผลกระทบทุกภาคส่วนของสังคม การเมือง เศรษฐกิจ โดยได้ส่งผลกระทบต่อสถานะของกลุ่มผู้นำอื่นๆที่เคยมีบทบาทที่ผ่านมา โดยวัตถุประสงค์ข้างต้นหากพิจารณาแล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จคงต้องดำเนินการในการต่อสู้ต่อไป อย่าลืมว่าการต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้ ต้องอาศัยการสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมเพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นจึงไม่แปลกใจมากนักหากสมมติฐานนี้จะมีผู้สงสัยว่าอาจบุคคลบางคนที่มีอิทธิพล ต้องการเดินเกมส์ทำลายล้างระบบทักษิณให้หมดลงให้ได้ โดยการสร้างสถานการณ์อีกครั้ง เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้นว่าสงครามยังไม่จบ จึงต้องการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงอีกครั้ง

นอกจากนี้ ภาพของกลุ่มพันธมิตรฯที่ผ่านมาได้ตกเป็นฝ่ายตั้งรับจากบุคลิกที่อ่อนน้อมถอมตนของนายสมชาย และข้อเสนอการเมืองใหม่ไม่ได้รับการตอบรับมากนักจากสังคมโดยส่วนรวม โดยพันธมิตรมีความตั้งใจให้เกิดการเมืองใหม่โดยมีสาระสำคัญลดอำนาจของฝ่ายการเมืองลงยังไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ที่สำคัญเกมส์การแก้รัฐธรรมนูญโดยการตั้ง ส.ส.ร3 ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางในการลดความขัดแย้งได้ รวมทั้งส่งผลให้รัฐบาลเป็นควบคุมแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ หากกลุ่มพันธมิตรไม่สามารถควบคุมแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ได้แล้วย่อมต้องเสียเปรียบในการสร้างกติกาฉบับใหม่ ส่งผลให้การเมืองยังเป็นรูปแบบเก่าโดยยังทำให้นักการเมืองในระบบการเมืองเก่า

แม้ว่ายังไม่สามารถให้คำตอบอย่างชัดเจนว่าสาเหตุการจับกุมมีเบื้องหลังอย่างไร้ โดยอาจจะหาคำตอบจากสมมุติฐานข้างต้นดังที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับการรับรู้ข้อมูลของบุคคล แต่ทิศทางการเมืองในห้วงต่อไปยังน่าเป็นห่วงโดยจะมีการชิงความได้เปรียบทางการเมือง โดยยังมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงทางการเมืองมากขึ้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมองในวิชาการแล้ว การจับกุมแกนนำพันธมิตรในครั้งนี้ จะเป็นตัวยกระดับการต่อสู้ของฝ่ายพันธมิตรเอง เพราะแสดงให้เห็นการเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อให้การเมืองใหม่เดินหน้าต่อไปได้ ประกอบจะทำให้แนวทางอารยะขัดขืน(Civil Disobedience) มีความชอบธรรมมากขึ้น เนื่องจากในประเทศตะวันตกผู้ที่ประกาศใช้ต้องยืดหยัดที่จะรับผิดชอบทางกฎหมายกับสิ่งได้ทำลงไป หากแกนนำพันธมิตรเข้าใจถึงแนวทางการต่อสู้ข้างต้นและไม่ผลประโยชน์แอบแฝงแล้วก็จะทำให้การพัฒนาทางการเมืองไทยยกระดับไปอีก

ที่สำคัญจะทำให้หลักการเรื่องนิติรัฐ(Rule of Law )กลับมาอีกครั้งหนึ่งหลังจากถูกทำลายไปในช่วงอดีตผู้นำท่าหนึ่งได้เข้ามาบริหารประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่พันธมิตรจะเป็นผู้เริ่มต้นโดยการแสดงให้ภาคสังคมเป็นตัวอย่างที่ดีว่าเมื่อกระทำผิดกฎหมายแล้วต้องรับผิดโดยให้กระบวนการทางกฎหมายเป็นผู้ชี้ขาด รวมทั้งเป็นการพิสูจน์ว่าเหตุการณ์จับกุมแกนนำไม่ใช้การสร้างสถานการณ์เพื่อรุกทางการเมืองครั้งใหม่ตามที่มีปรากฏข่าวสารว่ายังมีความพยายามในการสร้างสถานการณ์ต่อสู้ในครั้งสุดท้าย โดยยังมีเป้าหมายให้ทหารเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ชนะอย่างเบ็ดเสร็จ

วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การแก้ไข้รัฐธรรมนูญไม่ใช้คำตอบสุดท้ายในการแก้ไขวิกฤติการเมือง

การแก้ไข้รัฐธรรมนูญไม่ใช้คำตอบสุดท้ายในการแก้ไขวิกฤติการเมือง

กระแสการตอบรับถึงข้อเสนอของอธิการบดี 24 สถาบันในวงกว้างได้กดดันให้รัฐบาลต้องนำมาบรรจุเป็นนโยบายที่จะมีการแถลงต่อรัฐสภาระหว่าง6-7 ต.ค.51โดยคาดว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร.3 คงจะไม่ใช้คำตอบที่สำเร็จรูปว่าเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วทุกอย่างจะสงบลงได้อย่างที่หลายฝ่ายกำลังคิดกันอยู่ เนื่องจากมันเป็นวิธีการคิดของคนไทยในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในลักษณะอยากให้ปัญหาจบลงโดยเร็ว แต่ไม่ตระหนักว่ากระบวนการยุติปัญหาเพื่อให้มีการพัฒนาในระบบประชาธิปไตยนั้นต้องใช้เวลาตามแนวความคิดของพัฒนาการทางการเมือง หรือ Political Developement รวมทั้งยังไม่มีความเข้าใจตัวตนที่แท้จริงของสังคมไทยในแง่ของจิตวิทยาหรือนิสัยของความเป็นไทย กล่าวคือ

ประการแรก เมื่อความคิดแย้งที่เห็นอยู่มันแบ่งแยกอย่างชัดเจนแล้วในลักษณะคู่ตรงข้าม(Binary Opposition) มันก็ไม่มีความแตกต่างจากความขัดแย้งระหว่างระหว่างโรงเรียนเทคนิคที่มักจะมีการยิงหรือทำร้ายร่างกายเมื่อเผชิญหน้ากันหรือหากรู้ว่าเป็นศัตรูก็ทำร้ายร่างกายโดยไม่มีความจำเป็นต้องสอบถาม ซึ่งการเมืองไทยจนถึงวันนี้ กำลังเป็นภาพขยายของอีกด้านสังคมในด้านลบเฉกเช่น ความขัดแย้งของนักเรียนอาชีวะ ดังนั้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ทุกอย่างสมานฉันท์กันได้แต่ปฏิรูปภาคสังคมทั้งระบบด้วยเพราะพื้นฐานของการเมืองเก่าในปัจจุบัน

ประการที่สอง มีความต่อเนื่องจากประเด็นแรกก็คือ การเมืองสะท้อนสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมหรือไม่สามารถแยกออกจากสังคมโดยส่วนรวมได้ เมื่อแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ได้แก้สังคมหรือการเปลี่ยนแปลงตนเองได้แล้วมันก็ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะสังคมยังปฏิบัติตัวเหมือนเดิม เนื่องจากมีกรอบของความคิด วัฒนธรรม ความเชื่อที่ยังขัดต่ออุดมการณ์ความเป็นประชาธิปไตยอยู่ ผู้คนในสังคมยังมีกรอบความคิดที่ยังไม่เอื้อต่อระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ดังนั้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปสังคมทั้งระบบด้วย โดยเฉพาะการศึกษา ของไทยค่อนข้างล้าสมัยเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง ดังนั้นหากสามารถผลักดันการปฏิรูประบบการศึกษาซึ่งเป็นขั้นแรกในการปฏิรูปสังคม แนวโน้มการเมืองไทยน่าจะดีขึ้นในภายภาคหน้า

ประการที่สาม พลังในการขับเคลื่อนต้องมีความชอบธรรม(Legitimacy)หากเริ่มต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญขาดความชอบธรรม อันเกิดจากการยอมรับของคนทั่วประเทศแล้ว ผลที่ตามมาก็จะเกิดขบวนการล้มและไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ อันนำไปสู้การต่อสู้ทางการเมืองอีกครั้ง ปัญหาที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องช่วยกันผลักดันก็คือว่าทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความชอบธรรมที่เกิดขึ้นจากการยอมรับและไม่มีช่องทางในการปฏิเสธของคนบางกลุ่มได้ สำหรับสถานการณ์ในแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 3 นี้ ยังอยู่ในขั้นตอนที่สำคัญคือการสร้างความชอบ หากขั้นตอนนี้ประสบผลสำเร็จแล้วขั้นตอนอื่นไม่น่าจะมีปัญหามากนัก อย่างไรถือว่าเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากที่สุด
ประการที่สี่ จากการที่ประเทศไทยมีวัฒนธรรมอุปถัมภ์โดยผู้ใหญ่จะเป็นตัวเกื้อกูลสนับสนุนผู้น้อย หากผู้ใหญ่สามารถเป็นตัวหลักที่ได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการสนับสนุนแทรกแซงกระบวนการน่าจะทำให้เป็นไปได้ด้วยดี แต่หากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองยังไม่มีการละทิ้งซึ่งความแค้น ความเกลียดชังแล้วแม้จะสามารถผลักดันกระบวนการแก้ไขได้ก็จะนำมาสู่การไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญในที่สุด

ประการที่ห้า ประชาชน สื่อมวลชน ในประเทศต้องช่วยกันในการตรวจสอบหรือผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับมากที่สุด โดยต้องแสดงพลังกดดันให้ฝ่ายรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆด้วยการแอบแฝง ขณะที่นักการเมืองต้องปรับตัวเช่นกันว่าหากสามารถเสียสละอำนาจที่เคยใช้อย่างมากมายและหันมาสร้างกติกา โครงสร้าง ที่สังคมยอมรับแล้วน่าการทำเพื่อประโยชน์ในระยะยาวของประเทศมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ใช้คำตอบสุดท้ายในการแก้ไขวิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ แต่เปรียบเสมือนโครงสร้างของการใช้อำนาจหากไม่มีแล้วการใช้อำนาจจะไม่สามารถสร้างประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้หรือใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมโดยไม่มีแนวทางกำหนดไว้ ประกอบกับผู้ใช้เองต้องตระหนักถึงการใช้อำนาจด้วยโดยต้องพึงสังวรว่า ต้องใช้อำนาจเพื่อทำประโยชน์กับประชาชน อย่ายึดติดอำนาจหรือเห็นว่าตนเองคืออำนาจ แล้วน่าจะทำให้รัฐธรรมนูญมีความศักดิ์มากกว่าที่เป็นอยู่และไม่นำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งต่อไป