ความเป็นจริงที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง
การทำร้ายร่างกายหรือการหมายจะเอาชีวิตของกลุ่มพันธมิตรจากกลุ่มคนรักษ์อุดรใน จ.อุดรธานี เมื่อ 25 ก.ค.51 ในสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มขยายตัวกลายเป็นการใช้ความรุนแรง(Violence)ในพื้นที่นอกใจกลางเมืองหลวง และเริ่มมีแนวโน้มขยายพื้นที่มากขึ้นตามกระแสการปลุกปั้นเพื่อเอาชนะทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเข้าใจในทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์แล้วมีนัยสำค้ญอันแสดงความเป็นจริงในระบบการเมืองไทยในรูปแบบประชาธิปไตย(Democracy) ของไทยในเวลานี้
สำหรับข้อเท็จจริงในทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการใช้กำลังความรุนแรงทางการเมืองมีสาเหตุมาจาก
มวลชน/ประชาชน ยังมีพฤติกรรมของความเป็นทาสของนักการเมืองมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นจริงทางของลักษณะของคนไทยได้ว่าแม้ว่าจะเปลี่ยนการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตย ซึ่งต้องมีพื้นฐานของปัจเจกชนที่มีจิตใจของความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมรองรับ แต่ตลอดระยะเวลา 76 ปี ยังมีจิตใจของความเป็นทาสและไพร่เหมือนเดิมอย่างไม่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของนักการเมืองในทุกระดับ ดังนั้นจึงมีความคล้อยตามและเชื่อการชี้นำของนักการเมืองในท้องถิ่น เพราะต่างมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนกล่าวคือ นักการเมืองต้องใช้หรืออาศัยประชาชนเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง รวมทั้งยังใช้เสียงของประชาชนในการอ้างความชอบธรรมของที่มาของอำนาจมาจากประชาชนว่ามีความชอบธรรมเหนือฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ ประชาชนจะได้ผลประโยชน์ในรูปแบบของโครงการพัฒนาหรือเงินที่ได้รับจาการขายเสียง ดังนั่นประชาชนจึงเหมือนว่ามีนายคอยให้การอุปถัมภ์ตลอดเวลา เนื่องจากประชาชนจะเป็นฐานเสียง ฐานอำนาจ ให้แก่นักการเมือง
ข้าราชการ ในยุคของการต่อสู้ทางการเมืองมีความชัดเจนว่ากำลังถูกครอบงำจากนักการเมืองมากขึ้นเนื่องจากเป็นผู้ที่ให้ความก้าวหน้าและผลประโยชน์ต่อข้าราชการ เพราะอำนาจการเมืองมีสถานะที่เหนือกว่าภาคอื่นของสังคม ซึ่งไม่มีความสมดุลในระบบของสังคมไทยในปัจจุบัน การรุกคืบของฝ่ายการเมืองในระบบข้าราชการ ได้ใช้อำนาจทางการบริหารในการกดดันข้าราชการเลือกฝ่ายหรือต้องสนับสนุน หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ส่งผลให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ที่สำคัญกลายมาเป็นตัวอย่างกับสังคมว่าผู้ที่ทุจริตไม่ถูกลงโทษเกิดขบวนการเอาอย่างมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากระบบราชการไม่เอื้อต่อการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลให้ทุจริตอย่างกว้างขวางในสังคมแม้กระทั่งการสอบในโรงเรียน
นักการเมือง ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานักการเมืองสามารถเข้าควบคุมอำนาจรัฐแทนข้าราชการ จากการใช้เครือข่ายประชาชนสนับสนุนจนสามารถเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศเทียบเท่าราชการหรือขุนนางในระบบกษัตริย์ ผ่านระบบเลือกตั้งประชาธิปไตย(Representative Democracy) การขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองโดยเสียเพียงเงินทุนมากกว่าการเสียสละเพื่อให้ซึ่งระบบประชาธิปไตยเฉกเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว ย่อมสร้างความหลงและเหลิงอำนาจให้กับนักการเมือง เนื่องจากเป็นการลงทุนทางการเมืองที่ได้ผลตอบแทนในระยะสั้นและได้อำนาจมาอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นจากเมื่อได้อำนาจการบริหารประเทศแล้วมักจะใช้ในการสร้างความมั่นคงให้เครือข่ายของตนเองมากกว่าการใช้อำนาจในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งยังใช้อำนาจในลักษณะขจัดอุปสรรคทางการเมืองเพื่อให้มีความต่อเนื่องในการครองอำนาจในการบริหารประเทศ อันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชนชั้นนำทางการเมืองอื่น ๆที่เคยมีอำนาจ จนเกิดความขัดแย้งและทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ นักการเมืองยังมีอาณาจักรทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นจากระบบการเมืองที่เน้นเลือกตั้งที่ใช้ฐานเสียง ซึ่งส่งผลให้นักการเมืองมีฐานที่มั่นในการต่อสู้ทางการเมืองและยังนำมาสู่การต่อรองหรือการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่อาจหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดทางกฎหมาย โดยมีความคล้ายคลึงกับซุ้มของโจรในสมัยโบราณหรือศักดินาสมัยขุนนาง เพียงแตกต่างกันเพียงวันเวลาเท่านั้น
ชนชั้นกลาง ในประเทศไทยการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามแนวความคิดการพัฒนาทางการเมือง(Political Development) เพราะชนชั้นกลางในประเทศไทยนั้น ไม่ได้เป็นเสาหลักในการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในประเทศไทย แต่เป็นทหารหรือข้าราชการ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในประเทศไทยไม่ได้เริ่มต้นจากชนชั้นกลางเฉกเช่นประเทศตะวันตก มักไม่ค่อยแสดงจุดยืนที่แท้จริงว่าประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศไทยมีแนวความคิดอย่างไร รวมทั้งไม่กล้ายืนหยัดในการต่อสู้อย่างเปิดเผยเพราะยังไม่มีจิตสำนึกของสาธารณะ(Public Mind) นอกจากนี้ มักจะเชื่อกับข่าวลวงและข่าวปล่อย ส่งผลให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของความคิดของการต่อสู้ทางการเมืองทางอ้อม
ด้วยสภาพความเป็นจริงข้างต้นได้ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยในขณะนี้ เดินทางมาสู่จุดที่เรียกได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่มืดมิดทางการเมืองและอาจนำมาสู่ความวุ่นวาย(Choas) ครั้งใหญ่โดยการใช้กำลังในประเทศมากขึ้น หากต่างฝ่ายยังไม่หยุดการต่อสู้ในครั้งนี้
แนวทางการแก้ไข
สำหรับแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การกล่าวลอยๆถึงแนวทางการแก้ไขคงไม่สามารถนำมาแก้ไขที่เกิดขึ้นได้ โดยควรดำเนินการการแก้ไขในระดับโครงสร้างของความคิดเสียก่อนซึ่งเป็นส่วนบนสุดซึ่งเป็นต้นเหตุที่มาของอำนาจในรูปแบบการสร้างวาทกรรมในสังคมไทย แต่ต้องใช้เวทีทางวิชาการระดมความคิดเพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทย โดยในขั้นแรกทุกฝ่ายต้องแสวงหาความจริงเชิงประจักษ์ในทุกแง่มุม ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางการแก้ไขปัญหา การการแสวงหาความจริงหรือยอมรับความเป็นจริงในสังคมไทยที่ผ่านมามักได้รับการปฏิเสธ ซึ่งส่งผลให้เกิดความซับซ้อนของปัญหามากขึ้น เพราะสังคมไทยไม่ได้เปิดใจกว้างและไม่มีความอดทนต่อการแก้ไขปัญหาในระยะยาวแต่นิยมการซ่อนปัญหาหรือใช้วิธีแก้ไขที่ขาดการไตร่ครองอย่างรอบด้านเพื่อเร่งให้ปัญหาจบลงโดยเร็ว โดยไม่ขาดความตระหนักว่าการเกิดขึ้นของปัญหาใช้เวลามากกว่าการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ กระบวนการทางความคิดของสังคมไทยยังมีลักษณะเป็นมายาคติ(Mythology)เสียมาก มากกว่าการใช้เหตุผล(Rationalism) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงไม่เกิดการถกเถียงเพื่อให้นำมาสู่จุดที่เรียกว่าการเกิดขึ้นทางปัญญา(Intellectual) แต่วาทกรรมของมายาคติจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการหยุดนิ่งทางปัญญาเพราะจะเกิดการอ้างสิ่งที่เหนือกว่าที่เกี่ยวข้องสิ่งศักดิ์ แนวความคิดที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ รวมทั้งความอาวุโส ได้ส่งผลให้เกิดความเสื่อมถอยทางความคิดมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในภาพรวมของสังคมไทยจึงเป็นสังคมที่ขาดซึ่งการพัฒนาทางด้านความคิด ส่งผลให้ไม่มีพื้นฐานรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนการความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม
ผลกระทบที่ตามมาได้ส่งผลต่อสังคมก่อให้เกิดปัญหาในทุกด้านทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยมีที่มาของสาเหตุของปัญหาจากระบบความคิดในเชิงปรัญชาในข้างต้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการแก้ไขปัญหาคงต้องใช้เวลานาน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใช้ระยะเวลามากน้อยเท่าไหร่ถึงจะแก้ไขปัญหาการเผชิญหน้าในประเทศไทยได้ เพราะลำพังการให้เวลาแล้วปัญหาจะจบคงใช้ไม่ได้ แ ต่ต้องอาศัยพลังของประชาชนทั้งประเทศในการกำหนดอนาคตของประเทศมากกว่าการปล่อยให้กลุ่มพลัง กลุ่มการเมืองมา เป็นผู้ผูกขาดอำนาจ/การกระทำหน้าที่เพียงฝ่ายเดียวคงไม่พอเพียงที่จะหลุดพ้นจากสภาพปัญหาดังกล่าว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น