วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ความเป็นจริงที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง

ความเป็นจริงที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง

การทำร้ายร่างกายหรือการหมายจะเอาชีวิตของกลุ่มพันธมิตรจากกลุ่มคนรักษ์อุดรใน จ.อุดรธานี เมื่อ 25 ก.ค.51 ในสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มขยายตัวกลายเป็นการใช้ความรุนแรง(Violence)ในพื้นที่นอกใจกลางเมืองหลวง และเริ่มมีแนวโน้มขยายพื้นที่มากขึ้นตามกระแสการปลุกปั้นเพื่อเอาชนะทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเข้าใจในทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์แล้วมีนัยสำค้ญอันแสดงความเป็นจริงในระบบการเมืองไทยในรูปแบบประชาธิปไตย(Democracy) ของไทยในเวลานี้

สำหรับข้อเท็จจริงในทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการใช้กำลังความรุนแรงทางการเมืองมีสาเหตุมาจาก
มวลชน/ประชาชน ยังมีพฤติกรรมของความเป็นทาสของนักการเมืองมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นจริงทางของลักษณะของคนไทยได้ว่าแม้ว่าจะเปลี่ยนการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตย ซึ่งต้องมีพื้นฐานของปัจเจกชนที่มีจิตใจของความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมรองรับ แต่ตลอดระยะเวลา 76 ปี ยังมีจิตใจของความเป็นทาสและไพร่เหมือนเดิมอย่างไม่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของนักการเมืองในทุกระดับ ดังนั้นจึงมีความคล้อยตามและเชื่อการชี้นำของนักการเมืองในท้องถิ่น เพราะต่างมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนกล่าวคือ นักการเมืองต้องใช้หรืออาศัยประชาชนเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง รวมทั้งยังใช้เสียงของประชาชนในการอ้างความชอบธรรมของที่มาของอำนาจมาจากประชาชนว่ามีความชอบธรรมเหนือฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ ประชาชนจะได้ผลประโยชน์ในรูปแบบของโครงการพัฒนาหรือเงินที่ได้รับจาการขายเสียง ดังนั่นประชาชนจึงเหมือนว่ามีนายคอยให้การอุปถัมภ์ตลอดเวลา เนื่องจากประชาชนจะเป็นฐานเสียง ฐานอำนาจ ให้แก่นักการเมือง

ข้าราชการ ในยุคของการต่อสู้ทางการเมืองมีความชัดเจนว่ากำลังถูกครอบงำจากนักการเมืองมากขึ้นเนื่องจากเป็นผู้ที่ให้ความก้าวหน้าและผลประโยชน์ต่อข้าราชการ เพราะอำนาจการเมืองมีสถานะที่เหนือกว่าภาคอื่นของสังคม ซึ่งไม่มีความสมดุลในระบบของสังคมไทยในปัจจุบัน การรุกคืบของฝ่ายการเมืองในระบบข้าราชการ ได้ใช้อำนาจทางการบริหารในการกดดันข้าราชการเลือกฝ่ายหรือต้องสนับสนุน หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ส่งผลให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ที่สำคัญกลายมาเป็นตัวอย่างกับสังคมว่าผู้ที่ทุจริตไม่ถูกลงโทษเกิดขบวนการเอาอย่างมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากระบบราชการไม่เอื้อต่อการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลให้ทุจริตอย่างกว้างขวางในสังคมแม้กระทั่งการสอบในโรงเรียน

นักการเมือง ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานักการเมืองสามารถเข้าควบคุมอำนาจรัฐแทนข้าราชการ จากการใช้เครือข่ายประชาชนสนับสนุนจนสามารถเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศเทียบเท่าราชการหรือขุนนางในระบบกษัตริย์ ผ่านระบบเลือกตั้งประชาธิปไตย(Representative Democracy) การขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองโดยเสียเพียงเงินทุนมากกว่าการเสียสละเพื่อให้ซึ่งระบบประชาธิปไตยเฉกเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว ย่อมสร้างความหลงและเหลิงอำนาจให้กับนักการเมือง เนื่องจากเป็นการลงทุนทางการเมืองที่ได้ผลตอบแทนในระยะสั้นและได้อำนาจมาอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นจากเมื่อได้อำนาจการบริหารประเทศแล้วมักจะใช้ในการสร้างความมั่นคงให้เครือข่ายของตนเองมากกว่าการใช้อำนาจในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งยังใช้อำนาจในลักษณะขจัดอุปสรรคทางการเมืองเพื่อให้มีความต่อเนื่องในการครองอำนาจในการบริหารประเทศ อันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชนชั้นนำทางการเมืองอื่น ๆที่เคยมีอำนาจ จนเกิดความขัดแย้งและทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ นักการเมืองยังมีอาณาจักรทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นจากระบบการเมืองที่เน้นเลือกตั้งที่ใช้ฐานเสียง ซึ่งส่งผลให้นักการเมืองมีฐานที่มั่นในการต่อสู้ทางการเมืองและยังนำมาสู่การต่อรองหรือการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่อาจหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดทางกฎหมาย โดยมีความคล้ายคลึงกับซุ้มของโจรในสมัยโบราณหรือศักดินาสมัยขุนนาง เพียงแตกต่างกันเพียงวันเวลาเท่านั้น

ชนชั้นกลาง ในประเทศไทยการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามแนวความคิดการพัฒนาทางการเมือง(Political Development) เพราะชนชั้นกลางในประเทศไทยนั้น ไม่ได้เป็นเสาหลักในการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในประเทศไทย แต่เป็นทหารหรือข้าราชการ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในประเทศไทยไม่ได้เริ่มต้นจากชนชั้นกลางเฉกเช่นประเทศตะวันตก มักไม่ค่อยแสดงจุดยืนที่แท้จริงว่าประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศไทยมีแนวความคิดอย่างไร รวมทั้งไม่กล้ายืนหยัดในการต่อสู้อย่างเปิดเผยเพราะยังไม่มีจิตสำนึกของสาธารณะ(Public Mind) นอกจากนี้ มักจะเชื่อกับข่าวลวงและข่าวปล่อย ส่งผลให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของความคิดของการต่อสู้ทางการเมืองทางอ้อม

ด้วยสภาพความเป็นจริงข้างต้นได้ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยในขณะนี้ เดินทางมาสู่จุดที่เรียกได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่มืดมิดทางการเมืองและอาจนำมาสู่ความวุ่นวาย(Choas) ครั้งใหญ่โดยการใช้กำลังในประเทศมากขึ้น หากต่างฝ่ายยังไม่หยุดการต่อสู้ในครั้งนี้
แนวทางการแก้ไข

สำหรับแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การกล่าวลอยๆถึงแนวทางการแก้ไขคงไม่สามารถนำมาแก้ไขที่เกิดขึ้นได้ โดยควรดำเนินการการแก้ไขในระดับโครงสร้างของความคิดเสียก่อนซึ่งเป็นส่วนบนสุดซึ่งเป็นต้นเหตุที่มาของอำนาจในรูปแบบการสร้างวาทกรรมในสังคมไทย แต่ต้องใช้เวทีทางวิชาการระดมความคิดเพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทย โดยในขั้นแรกทุกฝ่ายต้องแสวงหาความจริงเชิงประจักษ์ในทุกแง่มุม ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางการแก้ไขปัญหา การการแสวงหาความจริงหรือยอมรับความเป็นจริงในสังคมไทยที่ผ่านมามักได้รับการปฏิเสธ ซึ่งส่งผลให้เกิดความซับซ้อนของปัญหามากขึ้น เพราะสังคมไทยไม่ได้เปิดใจกว้างและไม่มีความอดทนต่อการแก้ไขปัญหาในระยะยาวแต่นิยมการซ่อนปัญหาหรือใช้วิธีแก้ไขที่ขาดการไตร่ครองอย่างรอบด้านเพื่อเร่งให้ปัญหาจบลงโดยเร็ว โดยไม่ขาดความตระหนักว่าการเกิดขึ้นของปัญหาใช้เวลามากกว่าการแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ กระบวนการทางความคิดของสังคมไทยยังมีลักษณะเป็นมายาคติ(Mythology)เสียมาก มากกว่าการใช้เหตุผล(Rationalism) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงไม่เกิดการถกเถียงเพื่อให้นำมาสู่จุดที่เรียกว่าการเกิดขึ้นทางปัญญา(Intellectual) แต่วาทกรรมของมายาคติจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการหยุดนิ่งทางปัญญาเพราะจะเกิดการอ้างสิ่งที่เหนือกว่าที่เกี่ยวข้องสิ่งศักดิ์ แนวความคิดที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ รวมทั้งความอาวุโส ได้ส่งผลให้เกิดความเสื่อมถอยทางความคิดมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในภาพรวมของสังคมไทยจึงเป็นสังคมที่ขาดซึ่งการพัฒนาทางด้านความคิด ส่งผลให้ไม่มีพื้นฐานรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนการความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม

ผลกระทบที่ตามมาได้ส่งผลต่อสังคมก่อให้เกิดปัญหาในทุกด้านทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยมีที่มาของสาเหตุของปัญหาจากระบบความคิดในเชิงปรัญชาในข้างต้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการแก้ไขปัญหาคงต้องใช้เวลานาน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใช้ระยะเวลามากน้อยเท่าไหร่ถึงจะแก้ไขปัญหาการเผชิญหน้าในประเทศไทยได้ เพราะลำพังการให้เวลาแล้วปัญหาจะจบคงใช้ไม่ได้ แ ต่ต้องอาศัยพลังของประชาชนทั้งประเทศในการกำหนดอนาคตของประเทศมากกว่าการปล่อยให้กลุ่มพลัง กลุ่มการเมืองมา เป็นผู้ผูกขาดอำนาจ/การกระทำหน้าที่เพียงฝ่ายเดียวคงไม่พอเพียงที่จะหลุดพ้นจากสภาพปัญหาดังกล่าว

วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การเมืองใหม่เครื่องมือในการต่อสู้กับระบอบทักษิณ

การเมืองใหม่เครื่องมือในการต่อสู้กับระบอบทักษิณ

การเมืองใหม่(new politic)ที่ฝ่านพันธมิตรได้ประกาศเป็นวาระในการต่อสู้กับทุนนิยมการเลือกตั้ง ได้สะท้อนความเป็นจริงของการต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้ ได้ว่ากลุ่มพันธมติต้องการจะล้มระบอบโดยเฉพาะการทำลายฐานมวลชน การเมือง ที่อดีตนักการเมืองสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นฐานทางอำนาจ สืบทอดอำนาจ โดยใช้ช่องทางทางประชาธิปไตยแบบตัวแทนเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างมากตลอดระยะเวลาที่นักการเมืองผู้นั้นครองอำนาจ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วหนทางที่จะล้างระบอบดังกล่าวต้องใช้การเมืองใหม่หรือการเคลื่อนไหวของประชาสังคมรูปแบบใหม่(the new social movement) จะเน้นการเคลื่อนไหวในทางการเมืองในลักษณะเรียกร้องกดดันฝ่ายรัฐ โดยใช้วิธีการหรือหลักที่สำคัญ คือ การขัดขืนทางอารยะหรือการดื้อเพ็ง(Civil Disobedience) ซึ่งในทางทฤษฎีเรียกว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะดังกล่าวว่า การเมืองในรูปแบบใหม่หรือขบวนการเคลื่อนไหวทางประชาสังคมในรูปแบบใหม่ (the new politics and the new social movement) วัตถุประสงค์ของขบวนการไม่ต้องการครอบครองอำนาจรัฐเหมือนกับพรรคการเมืองหรือ กลุ่มทุน แต่ต้องการสร้างวาทกรรมทางการเมืองที่เปิดกว้างให้ภาคสังคมมากขึ้น มากกว่าการเมืองที่มีความหมายที่คับแคบเช่นการเมืองแบบตัวแทน หรือการเมืองที่เน้นการเลือกตั้ง ซึ่งอำนาจรัฐจะอยูที่กลุ่มคนในวงจำกัด

ปัจจัย/สาเหตุที่ทำให้การเกิดขึ้นการเมืองในรูปแบบใหม่หรือขบวนการประชาสังคมใหม่ มีสาเหตุมาจากการต่อต้านการเมืองรูปแบบเก่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคสังคมที่หลากหลายได้ เนื่องจาก
ประการแรก การเมืองแบบเก่าที่เน้นการเลือกตั้ง การเมืองแบบพรรคการเมือง ที่ใช้หรือดำรงอยู่เป็นพียงรูปแบบการรักษาอำนาจและสถานภาพ
ประการที่สอง ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐชาติ รัฐบาล ชุมชนมีความยุ่งยากซับซ้อนในปัจจุบัน ขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องการความร่วมมือในรูปของเครือข่ายระดับท้องถิ่น ประเทศ และ สากล
ประการที่สาม ข้อจำกัดทั้งประชาธิปไตยแบบตัวแทน(Representative Democracy)เป็นเพียงการครอบงำจากทุนนิยม ขณะที่ประชาธิปไตยของฝ่ายซ้ายในรูปแบบรัฐสวัสดิการเป็นการมุ่งสลายพลังของประชาชนแต่เป็นการสร้างความเข้มแกร่งให้กับรัฐ เนื่องจากรัฐจะ
ประการที่สี่ การเกิดขึ้นของการเมืองใหม่โดยมีเคลื่อนประชาสังคมใหม่มีความแตกต่างจากประชาสังคมในรูปแบบอาสาสมัคร เนื่องจากประชาสังคมในรูปแบบอาสาสมัครยังเห็นรัฐเป็นตัวกลาง แต่การเมืองในรูปแบบใหม่ต้องการทัดทาน สร้างขีดจำกัดให้กับอำนาจรัฐ ต้องการสร้างพื้นที่/อาณาบริเวณสาธารณะ(the public sphere ) รวมทั้งต้องการสร้างพลเมืองที่มีจิตสำนึกทางการเมืองสูง

เครื่องมือในการต่อสู้ของในการเมืองรูปแบบใหม่ คือ สิทธิในการไม่เชื่อฟังรัฐของประชาสังคมหรือประชาชน (Civil Disobedience) เป็นการแสดงออกที่ไม่เห็นด้วยกับระบบ และเป็นความชอบธรรมของการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย เพื่อสร้าง/เรียกร้องสิทธิใหม่ๆ วัตถุประสงค์ในการสร้างกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แก้ไขกฏหมาย หรือเป็นช่องทางการเคลื่อนไหวของประชาชนธรรมดาในระบบประชาธิปไตยที่อยู่นอกเหนือช่องทางปกติ นอกเหนือกฎหมาย นอกเหนือสถาบันหลักต่างๆในสังคม แต่เป็นสิ่งชอบธรรมที่สามารถทำได้ รวมทั้งยังตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านกฏหมาย สังคม โดยไม่ได้ปล่อยให้ฝ่ายรัฐ เช่น ผู้พิพากษา นักกฎหมาย นักการเมือง นักวิชาการ ข้าราชการ เป็นผู้ผูกขาดการกำหนดทิศทางการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียว

การดื้อเพ็งหรืออารยะขัดขืน(Civil Disobedience)เป็นหลักการและวิธีการที่ใช้อย่างแพร่หลายเช่นการต่อต้านอังกฤษในอินเดีย การต่อสู้การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ซึ่งเกิดขึ้นแนวความคิดของนาย เฮนรี เดวิด ธอโร นักเขียนชาวอเมริกันในบทความชื่อดื้อเพ็ง ในชื่อเดิมว่า การต่อต้านรัฐบาลพลเมือง ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวในภาคสังคม

ลักษณะการดื้อแพ็งประกอบด้วย 1)การละเมิดกฎหมาย หรือตั้งใจละเมิดกฎหมาย 2)การไม่ใช้ความรุนแรงหรือแนวทางสัติวิธี 3)การแจ้งล่วงหน้าว่าจะทำการขัดขืนทางอารยะ 4)การเต็มใจที่จะรับผลจาการขัดขืน 5)การกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมาย 6)การมุ่งสร้างสำนึกความยุติธรรมแก่สังคมโดยรวม

ส่วนการนำวิธีการอารยะขัดขืนมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ในการเมืองไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศอย่างชัดเจนที่ใช้แนวทางดังกล่าวในการต่อสู้กับฝ่ายรัฐ อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวได้มีการใช้ในทางวิชาการมาแล้วในระยะหนึ่ง หรือ มีการใช้ในระดับปัจเจกชน เช่น การที่อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉีกบัตรลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 2 เม.ย.49

สำหรับการนำเสนอของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยครั้งล่าสุดโดยมีการประกาศการเมืองใหม่ มีสาระให้ที่มาของ ส.ส.มาจากแต่งตั้งร้อยละ 70 และ การเลือกตั้งร้อยละ 30 ในความเป็นจริงแล้วมีวัตถุประสงค์ที่จะลดขนาดการเมืองให้เล็กลงเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเชิงอำนาจที่นักการเมืองมีอำนาจมากกว่าภาคอื่นๆของสังคม

อย่างไรก็ตาม จากการที่แกนนำของฝ่ายพันธมิตรได้รับอิทธิพลของแนวความคิดจากสงครามประชาชนนำมาประยุกต์ใช้ในการเคลื่อนไหวซึ่งเป็นแนวความคิดของฝ่ายซ้าย แม้ว่าในระยะเวลานี้ยังอยู่ในขั้นของการต่อสู้และยังไม่ชนะ ซึ่งหากฝ่ายพันธมิตรได้รับชัยชนะสิ่งหนึ่งจะมีเปลี่ยนไปอาจเกิดการหลงอำนาจและขับเคลื่อนการเคลื่อนให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม อันจะส่งผลกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ