ยุทธศาสตร์การครบงำประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทย
นับตั้งแต่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน สามารถทำให้เห็นยุทธศาสตร์ที่ลอกเลียนแบบมาเพื่อสร้างอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศเหมือนรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทยในอดีต ดังนั้นลองกลับไปทบทวยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย เพื่อให้เห็นถึงภาพสะท้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งยังมีความต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
สำหรับ ยุทธศาสตร์ในการคุมอำนาจการบริหารประเทศของพรรคไทยรักไทยคือการใช้ความได้เปรียบทางการเมืองในการคุมอำนาจภาคเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบริหารประเทศมีความต่อเนื่อง แต่นัยทางการเมืองก็คือ ความต่อเนื่องของพรรคไทยรักไทยที่จะเข้ามาบริหารประเทศในทุกสมัยแม้ว่าจะยุบพรรค
ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลโดยพรรคไทยรักไทยได้ผลักดันนโยบายและกฎหมายที่ส่งผลต่อธุรกิจ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนที่มีความใกล้ชิดและให้การสนับสนุนพรรคไทยรักไทย รวมทั้งการส่งบุคคลที่มีความใกล้ชิดหรือตัวแทนของกลุ่มทุนเข้าไปคุมอำนาจหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อพวกพ้อง เพื่อตอบแทนกลุ่มทุนที่ให้ความช่วยเหลือทางการเมือง ที่สำคัญการใช้นโยบายทางด้านการคลังโดยภาครัฐกระจายงบประมาณลงพื้นที่ผ่านนโยบายประชานิยม แม้จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น แต่ก็ทำให้การประกอบการของกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยดีขึ้นไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วนัยของการใช้นโยบายทางการคลังของรัฐบาลเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงผู้ถือเงินจากรัฐบาลผ่านประชาชนไปยังกลุ่มทุนเท่านั้น
ด้านสังคม รัฐบาลได้ใช้ระบบอุปถัมภ์ (Patron-Client) สร้างความนิยมในหมู่ประชาชน โดยการผลักดันนโยบายที่สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนหรือคนยากจนที่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ เนื่องจากเห็นว่าประชาชนเหล่านี้เป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง แต่นโยบายที่รัฐบาลผลักดันออกมานั้นได้สร้างนิสัยให้ราษฎรเป็นผู้ถูกอุปภัมภ์ที่รอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีความคิดในการพึ่งพาตนเอง
ด้านการเมือง รัฐบาลได้ใช้อำนาจรัฐสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรงและขัดต่อกฎหมายในการตรวจสอบเพื่อลดบทบาทฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ได้แก่ องค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Government Organization) สื่อมวลชน (Media) และฝ่ายค้าน ผ่านนโยบายการปราบปรามยาเสพติด นโยบายปราบปรามการทุจริต และนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล ดังนั้นการใช้อำนาจรัฐที่ไม่คำนึงถึงความถูกต้องหรือขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชนจึงส่งผลให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลมีลักษณะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalistarianism)
อย่างไรก็ตาม การคุมอำนาจการบริหารประเทศจะทำให้พรรคไทยรักไทยสามารถเป็นรัฐบาลได้นานขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เช่นเดียวกับการบริหารประเทศที่มีความต่อเนื่อง แต่ผลกระทบที่ตามมาที่ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลตกต่ำนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศก็คือการทุจริตที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานซึ่งมีการเปิดเผยอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายปราบปรามการทุจริต ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ที่สำคัญเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้อง รัฐบาลมักจะเลือกปฏิบัติไม่เข้าไปตรวจสอบ หรือหากมีการตรวจสอบการทุจริตก็เป็นในลักษณะตอบโต้หรือทำลายภาพลักษณ์ฝ่ายค้านที่นำกรณีการทุจริตที่มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องมาเปิดเผยต่อสาธารณชน ดังนั้นนโยบายปราบปรามการทุจริตจึงไม่มีความคืบหน้าและทำให้รูปแบบการทุจริตมีการพัฒนาเป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือแบบบูรณาการ ด้วยเหตุนี้หน่วยงานจัดอันดับการทุจริตต่างประเทศ คือ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International (TI) ได้จัดอันดับให้ไทยมีความโปร่งใสต่ำลงโดยลดจากลำดับที่ 60 และ 61 ในปี 2543 และ 2544 มาอยู่ลำดับที่ 64 จากจำนวน 102 ประเทศที่มีการสำรวจในปี 2545
-
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น